กระบวนการเรียนรู้แบบร่วมพลัง 5 ขั้นตอน : แนวการสอนสำหรับครูยุค 4.0 (ตอนที่ 1)

โดย นายพัฒนา ทองคำ
ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1

ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในทุกๆ ด้านของสังคมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งประเทศไทยมีการปฏิรูป และปรับปรุงหลักสูตรอยู่ตลอดเวลา ให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศ ที่กำลังก้าวสู่ ประเทศไทย 4.0 เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นคนคุณภาพ มีคุณลักษณะที่ต้องการ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ (Creative) ทักษะในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การเป็นนักบูรณาการ (Integrator) และ ทักษะการวิเคราะห์และตัดสินใจ (มณพิไลย นรสิงห์, 2560) จึงเป็นหน้าที่สำคัญของครูผู้สอน จะต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพและคุณลักษณะตามที่หลักสูตรกำหนด โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวทางของการจัดการศึกษาในยุคปัจจุบัน

ผู้เขียนเคยได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับศักยภาพของ ครู 4.0 ในยุคนี้ว่า จะต้องศึกษาหลักสูตรให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา ศึกษาและใช้เทคนิคและวิธีสอนใหม่ๆ ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จัดกระบวนการเรียนรู้แบบสร้างแรงบันดาลใจ ให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง ทำงานเป็นกลุ่มแบบร่วมพลัง เน้นภาวะผู้นำและผู้ตาม เน้นการคิดสร้างสรรค์ (Creative Learning) เน้นให้ผู้เรียนไม่อยู่นิ่ง กระตือรือร้นและคิดค้นหาความรู้และคำตอบอยู่ตลอดเวลา (Active Learning) โดยสร้างชุมชนแห่งความสงสัยให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน เกิดบรรยากาศอยากเรียนอยากรู้ อยากหาคำตอบ (Community of Inquiry) ผู้เรียนลงมือค้นหาคำตอบผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยยึดปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ถึงแก่นแท้ของเนื้อหา เกิดความรู้ใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม หรือการทำวิจัยพื้นฐาน และจากประสบการณ์ของผู้เขียนในการนิเทศครูผู้สอนโรงเรียนในฝัน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 พบว่า มีการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยยึดครูเป็นศูนย์กลาง และเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางควบคู่กันไป จะเลือกใช้แนวทางไหนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของหลักสูตร มาตรฐานและตัวชี้วัด ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จะใช้แนวการสอนอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการสอนที่เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ (Active Learning) นอกจากนี้ มีการนำแนวการสอนใหม่ๆ ทั้งที่ครูศึกษาด้วยตนเอง และได้รับการอบรมพัฒนาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 หรือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าครูโรงเรียนในฝัน สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้เป็น ครู 4.0 โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ได้สนองเจตนารมย์ของหลักสูตร และเป็นไปตามแนวทางของการจัดการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูในยุคปัจจุบัน ของ พิมพันธ์ เดชะคุปต์ (2560) ที่ให้เป็นไปตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 แนวทางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 แนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อาเซียนศึกษา และครูใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยให้ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ สร้างความรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ (Learning Outcome) ครบทุกด้าน ได้แก่ ความรู้ ทักษะการคิดและทักษะการปฏิบัติ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถด้านการรู้หนังสือ (Literacy) การรู้เรื่องจำนวน (Numeracy) และความสามารถในการใช้เหตุผล (Reasoning Ability) นอกจากนี้ พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และ พเยาว์ ยินดีสุข (2560, น. 297) ได้กล่าวถึงแนวการสอนใหม่ๆ สำหรับครู 4.0 นำมาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุความรู้ตามมาตรฐานของหลักสูตรพร้อมมีสมรรถนะการคิด และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ สร้างให้ผู้เรียนเป็นเด็กไทย 4.0 คือ แนวการสอนแบบร่วมพลัง 5 ขั้นตอน
ในปัจจุบัน มีนักวิชาการเสนอแนวการสอนใหม่ๆ ไว้มากมาย เพื่อให้ครูผู้สอนนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิผล ได้แก่ แนวการสอนแบบร่วมมือร่วมใจ (Cooperative Learning) แนวการสอนแบบโครงสร้างความรู้ (Graphic Organizer) แนวการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) แนวการสอนเพื่อการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ (Creative Problem Solving) แนวการสอนแบบ STEM Education แนวการสอนแบบ Scaffolding และ แนวการสอนแบบร่วมพลัง 5 ขั้นตอน เป็นต้น สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึง แนวการสอนแบบร่วมพลัง 5 ขั้นตอน ซึ่งเป็นแนวการสอนที่มีความเหมาะสมสำหรับครู 4.0 นำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดของผู้เรียนให้สามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง อันทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง และสร้างชิ้นงาน นวัตกรรมได้ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง

เนื่องจากมีความจำกัดของพื้นที่ลงบทความ ผู้เขียนจึงขอเสนอเนื้อหาไว้เพียงเท่านี้ก่อน และเชิญชวนให้ผู้อ่านติดตามเนื้อหาต่อจากนี้ได้ในฉบับต่อไป ซึ่งมีหัวข้อเนื้อหาที่สำคัญ ดังนี้ (1) แนวการสอนแบบร่วมพลัง 5 ขั้นตอน คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร มีกี่ขั้นตอน และมีจุดเด่นอย่างไร (2) แนวการสอนแบบร่วมพลัง 5 ขั้นตอน เสริมสร้างทักษะที่สำคัญๆ อะไรบ้าง และอย่างไร และ (3) แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของ แนวการสอนแบบร่วมพลัง 5 ขั้นตอน

ดาวน์โหลด