กระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอน : แนวการสอนสำหรับครูยุค 4.0 (ตอนที่ 2)

โดย นายพัฒนา ทองคำ
ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1

กระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอน คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง และมีจุดเด่นอย่างไร
กระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอน (5 STEPs Collaborative Learning Process) เป็นแนวการสอน (Teaching Approach) ที่มีลักษณะการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing) เน้นการรวมกลุ่มของผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถแตกต่างกัน มาช่วยเหลือกันทำกิจกรรมเรียนรู้ และร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อค้นคว้าหาคำตอบ อันนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเอง และการประยุกต์ใช้ความรู้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ กระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นจากการบูรณาการวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) เข้ากับแนวการสอน และเทคนิคการสอนต่างๆ โดยใช้แนวการสอนที่สำคัญหลักๆ ได้แก่ แนวการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-based Learning) และแนวการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ด้วยเหตุที่ผู้เรียนมีการทำกิจกรรมกลุ่มแบบร่วมมือช่วยเหลือกันและกัน เด็กเก่งเรียนรู้เร็วช่วยเด็กเรียนช้า เด็กถนัดกว่าช่วยเด็กถนัดน้อย จึงเป็นที่มาของคำว่า “รวมพลัง” โดยมีขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด ดังนี้ (พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และ พเยาว์ ยินดีสุข, 2561, น. 56-61)
1. ขั้นเสนอสิ่งเร้าและระบุคำถามสำคัญ (Stimulating and Key Questioning) เป็นขั้นนำเสนอสิ่งเร้าให้ผู้เรียนสังเกตและคิด จนเกิดความสงสัยและตั้งคำถามสำคัญ จากนั้นใช้ความรู้ประสบการณ์เดิมที่มีตั้งสมมติฐาน หรือคาดคะเนคำตอบของคำถามที่สงสัย ครูอาจช่วยเหลือผู้เรียนตั้งคำถามและสมมติฐาน
2. ขั้นแสวงหาสารสนเทศและวิเคราะห์ (Searching and Analyzing) เป็นขั้นสำคัญในการพิสูจน์สมมติฐานเพื่อหาคำตอบของคำถาม ครูกับผู้เรียนร่วมกันวางแผน หรือผู้เรียนวางแผนเอง ในการเก็บรวบรวมข้อมูลสารสนเทศ ครูอาจออกแบบการเก็บรวบรวมข้อมูลสารสนเทศให้ ด้วยการสร้างสื่อการเรียนรู้ เช่น ใบกิจกรรม ใบงาน ใบทดลอง รวมทั้งใบความรู้ ผู้เรียนลงมือปฏิบัติตามแผน จากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ หรือเชิงปริมาณก็ได้
3. ขั้นอภิปรายและสร้างความรู้ (Discussing and Constructing) เป็นขั้นแปลความหมายข้อมูลหลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสรุปผลและสร้างความรู้ด้วยตัวผู้เรียนเอง มีการสะท้อนความคิดของผู้เรียนเพื่อปรับแก้ไขความรู้ที่สร้างขึ้น โดยครูเป็นผู้ช่วยเชื่อมโยงสรุปไปยังความรู้ที่ถูกต้อง
4. ขั้นสื่อสารและสะท้อนคิด (Communicating and Reflecting) เป็นขั้นผู้เรียนนำเสนอความรู้ที่ได้จากการสร้างความรู้ด้วยตนเอง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการเรียนรู้ และการทำงานจนได้บทเรียน โดยการนำเสนอด้วยวิธีการต่างๆ อย่างหลากหลาย หน้าชั้นเรียน หรือในสถานที่ต่างๆ
5. ขั้นประยุกต์และตอบแทนสังคม (Applying and Serving) เป็นขั้นผู้เรียนร่วมกันประยุกต์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติ ใช้ในสถานการณ์ใหม่ โดยการสร้างชิ้นงานแบบริเริ่ม หรือแบบสร้างนวัตกรรมผ่านการทำโครงงาน หรือทำวิจัยก็ได้ เพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคม
สำหรับจุดเด่นของกระบวนการเรียนรู้นี้ อยู่ที่ผู้เรียนต้องสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการทำงานกลุ่ม อาศัยการร่วมมือช่วยเหลือกันเรียนรู้ เมื่อมีสถานการณ์ใหม่แล้วผู้เรียนสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสร้างสรรค์ ตามความสนใจและความถนัด

กระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอน เสริมสร้างทักษะที่สำคัญๆ อะไรบ้าง และอย่างไร
ทักษะที่สำคัญที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน โดยเฉพาะในยุคศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ทักษะ 3 Rs และ 8 Cs ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูที่นอกจากออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเนื้อหาอย่างเข้าใจถ่องแท้แล้ว จะต้องเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดทักษะที่สำคัญดังกล่าวควบคู่กันไป การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอน สามารถช่วยเสริมสร้างทักษะต่างๆ เหล่านั้นให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้ ดังตารางที่ผู้เขียนได้ทำการวิเคราะห์ไว้ ดังนี้

ดาวน์โหลด