ศึกษานิเทศก์ 4.0 เพิ่มพูนศักยภาพตนเองอย่างไร

โดย นายพัฒนา ทองคำ
ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1

ปัจจุบันความเจริญด้านเทคโนโลยีมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก สังคมไทยกำลังก้าวสู่โลกยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัว ทำให้การพัฒนาประเทศโดยเฉพาะด้านการศึกษา ต้องปฏิรูปและปรับเปลี่ยนหลักสูตรอยู่ตลอดเวลา จากการที่ประเทศไทยมีนโยบายพัฒนาประเทศโดยการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เพื่อก้าวเข้าสู่ ประเทศไทย 4.0 จึงจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศ กลายเป็นการศึกษาในยุค ประเทศไทย 4.0 หรือ การศึกษา 4.0 ของสังคมในศตวรรษที่ 21
การศึกษา 4.0 ต้องการพัฒนาคนให้มีศักยภาพอย่างไร เป็นสิ่งท้าท้ายที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาควรรู้เป็นอย่างยิ่ง เพื่อพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเองและนักเรียนให้เป็นคนที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะศึกษานิเทศก์ ซึ่งในปัจจุบันมีและใช้ศักยภาพในบทบาทหน้าที่ของตนเองน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ต้องการให้ศึกษานิเทศก์ใช้กระบวนการนิเทศพัฒนาและปรับปรุงการสอนของครู ทำหน้าที่ออกไปนิเทศและติดตามผลเพื่อสะท้อนผลการสอนของครู และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาอบรมครู และพัฒนาสื่อการสอน ในขณะที่ศึกษานิเทศก์กลับทำหน้าที่ธุรการติดตามงานโครงการ และงานนโยบายของหน่วยบริหาร ทำให้การนิเทศการเรียนการสอนมีน้อยและไม่มีประสิทธิภาพ เป็นการนิเทศซ้ำรอยเดิมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและทันสมัย โดยเฉพาะสื่อ นวัตกรรม และเทคนิคการนิเทศ ที่นำมาใช้ขาดความทันสมัย สำหรับบทความนี้จะได้กล่าวถึงแนวทางในการเพิ่มพูนศักยภาพของศึกษานิเทศก์ให้กลายเป็นศึกษานิเทศก์ 4.0 เพื่อช่วยเหลือครูและผู้บริหารพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้กลายเป็นนักเรียน 4.0 ต่อไป

ศักยภาพที่ต้องการของศึกษานิเทศก์ในยุคปัจจุบันมีอะไรบ้าง
การทำงานอย่างเต็มศักยภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่คาดหวังให้เกิดขึ้นกับศึกษานิเทศก์ ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่กำหนด สามารถช่วยพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน จากการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษา นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 พอจะยกตัวอย่างของศักยภาพที่ต้องการของศึกษานิเทศก์ ในยุคปัจจุบัน ได้ดังนี้ (1) การเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีสารสนเทศ (2) การแสวงหา สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ (3) การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (4) การวิจัย พัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยี (5) การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน (6) การคิดเชิงระบบ (7) การทำงานเป็นทีมและเครือข่าย (8) การถ่ายทอดความรู้เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และปฏิบัติ และ (9) การประเมินเพื่อการพัฒนา

จะต้องพัฒนาอย่างไรบ้างศักยภาพจึงเพิ่มพูนพัฒนา
จากความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของนักวิชาการเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะศึกษานิเทศก์ (สุพักตร์ พิบูลย์. 2556) ทักษะของแรงงานที่นายจ้างยุคเศรษฐกิจ 4.0 ต้องการ (ไกรยส ภัทราวาท. 2559) การศึกษาไทยในยุค ประเทศไทย 4.0 และการสร้างคนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 (ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์. 2559) และ การสร้างเครือข่ายนิเทศในยุค ประเทศไทย 4.0 (สุพักตร์ พิบูลย์. 2560) ผู้เขียนวิเคราะห์และนำเสนอแนวทางในการเพิ่มพูนศักยภาพของศึกษานิเทศก์ ได้ดังนี้
รอบรู้เทคนิคและกระบวนการนิเทศอย่างเชี่ยวชาญ แตกฉานในเรื่องที่จะนิเทศอย่างลึกซึ้ง โดยพึ่งใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research-based Supervision) สร้างแรงบันดาลใจให้พัฒนาการเรียนการสอนจนเป็นนิสัยแก่ครู ให้รู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติงาน อย่างชาญฉลาด มีมาดภาวะผู้นำทางด้านวิชาการ ในการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ในประเด็นที่ทันสมัย (Current Issue) ผ่านสื่อ เอกสาร และระบบเครือข่าย ใช้และพัฒนาทักษะทางวิชาการที่จำเป็นในการนิเทศ โดยเน้นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การคิดขั้นสูง การศึกษาค้นคว้า การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การประเมินและตัดสินใจเพื่อพัฒนา และการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน ดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประสบการณ์กันเป็นชุมชนและเครือข่าย โดยใช้กระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Communities : PLC) และรีบสร้างศรัทธาให้กับตนเอง เพื่อเป็นแบบอย่างของนักวิชาการที่ดี ทั้งด้านความรู้และประสบการณ์ และด้านจรรยาบรรณ ของวิชาชีพ

บทสรุปและความคาดหวัง
เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคแห่งศตวรรษที่ 21 ศึกษานิเทศก์จะต้องมีความมุ่งมั่นและพัฒนาศักยภาพที่ต้องการของตนเอง ดังกล่าวข้างต้น อยู่เสมอ “การศึกษา ค้นคว้า และพัฒนาตนเองในด้านความรู้และทักษะทางวิชาการ” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่ศึกษานิเทศก์ 4.0 พึงปฏิบัติตนอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ให้เป็นนิสัย โดยเฉพาะการใช้กระบวนการคิดและการใช้สื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการแสวงหา และสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ต่อยอดความรู้เดิม คิดและประยุกต์ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองและหน่วยงาน สามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งบนโลกนี้ รวมทั้งความรู้ที่สั่งสมและพัฒนาในระบบฐานข้อมูลทางวิชาการของตนเอง (Academic portfolio) มาบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ทั้งนวัตกรรมการนิเทศ และนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการนิเทศของตนเองให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด สามารถช่วยเหลือครูและผู้บริหารสถานศึกษาในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามเจตนารมย์และเป้าหมายของหลักสูตรต่อไป เมื่อครูและบุคลากรทางการศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีทางการศึกษา และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เข้มข้น ต่อเนื่อง คุณภาพของการจัดการศึกษาย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์และพัฒนาการศึกษาให้เกิดประสิทธิผล นักเรียนมีคุณภาพ

ดาวน์โหลด