รายงานการประเมินโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โรงเรียนบ้านธรรมเถียร (สุขประชารัฐ)

เรื่อง : รายงานการประเมินโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โรงเรียนบ้านธรรมเถียร (สุขประชารัฐ) ปีการศึกษา 2563
ชื่อเจ้าของผลงาน : นายนราวุฒิ อมรชาติ
ปีที่ศึกษา : 2564

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

การประเมินโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โรงเรียนบ้านธรรมเถียร (สุขประชารัฐ) ปีการศึกษา 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความจำเป็น ความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการจัดทำโครงการ 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความเพียงพอของบุคลากร งบประมาณ สื่อ วัสดุอุปกรณ์ และความพร้อมของการบริหารจัดการโครงการ 3) เพื่อประเมินกระบวนการดำเนินงานของโครงการเกี่ยวกับการวางแผน การดำเนินการ การติดตามประเมินผล และการนำผลการประเมินไปปรับปรุงพัฒนา และ 4) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับผลสำเร็จที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการ ความพึงพอใจของครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และนักเรียน ต่อการดำเนินงานโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) เป็นกรอบแนวคิดในการประเมิน คือ ด้านบริบท (Context Evaluation) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และด้านผลผลิต (Product Evaluation) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการครั้งนี้ ทั้งสิ้นจำนวน 57 คน ประกอบด้วย ครู จำนวน 7 คน เครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 24 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 จำนวน 19 คน ของโรงเรียนบ้านธรรมเถียร (สุขประชารัฐ) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 ปีการศึกษา 2563 เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ 1) แบบสอบถามการประเมินด้านบริบทของโครงการ 2) แบบสอบถามการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ 3) แบบสอบถามการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ 4) แบบสอบถามการประเมินด้านผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับผลสำเร็จที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการ 5) แบบสอบถามการประเมินด้านผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับความพึงพอใจของครู ต่อการดำเนินงานโครงการ 6) แบบสอบถามการประเมินด้านผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับความพึงพอใจของผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานต่อการดำเนินงานโครงการ และ 7) แบบสอบถามการประเมินด้านผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับความพึงพอใจของนักเรียนต่อการดำเนินงานโครงการ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (x-bar) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)

ผลการประเมินสรุปได้ ดังนี้

  1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (x-bar = 4.39, S.D.= 0.23)
  2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (x-bar = 4.34, S.D.= 0.21)
  3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (x-ba r= 4.28, S.D.= 0.16)
  4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ พบว่า
    4.1 ผลสำเร็จที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการ โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก (x-bar = 4.23, S.D.= 0.18)
    4.2 ความพึงพอใจของครูต่อการดำเนินงานโครงการ โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (x-bar = 4.41, S.D.= 0.07)
    4.3 ความพึงพอใจของผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานต่อการดำเนินงานโครงการ โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (x-bar = 4.32, S.D = 0.31)
    4.4 ความพึงพอใจของนักเรียนต่อการดำเนินงานโครงการ โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (x-bar = 4.27, S.D.= 0.49)

ข้อเสนอแนะ

  1. ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
    1.1 ควรพัฒนาเป้าหมายเชิงคุณภาพของโครงการให้มีความชัดเจน และปรับปรุงสภาพ แวดล้อมภายในให้เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มศักยภาพ
    1.2 ควรดำเนินการจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามแผนปฏิทิน และกำกับติดตามให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการที่กำหนด
    1.3 ควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและนอกสถานศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายให้นักเรียนได้ใช้แหล่งเรียนรู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง มุ่งพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น
  2. ข้อเสนอแนะในการประเมินครั้งต่อไป
    2.1 ควรมีการศึกษาวิจัยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นกับสถานศึกษาอื่นนอกสังกัด เช่น เทศบาล เอกชน เป็นต้น
    2.2 ควรมีการศึกษาเชิงเปรียบเทียบการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในที่เอื้อต่อการเรียนรู้ระหว่างสถานศึกษาที่มีขนาดต่างกัน สถานศึกษาที่เป็นสถานศึกษาสังกัดเดียวกันกับสถานศึกษาต่างสังกัด

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น