การประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน โรงเรียนวัดกลาง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

ชื่อเรื่อง : การประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน โรงเรียนวัดกลาง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
ชื่อผู้ศึกษา : นายเอกชัย ขุนฤทธิ์
ปีที่ศึกษา : 2563

บทคัดย่อ

การประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน โรงเรียนวัดกลาง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน โรงเรียนวัดกลาง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบริบท (Context Evaluation) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และด้านผลผลิต (Product Evaluation) 2) เพื่อเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นของนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนต่อโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน โรงเรียนวัดกลาง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง และ 3) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน โรงเรียนวัดกลาง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ประชากรในการวิจัยประเมินโครงการครั้งนี้ จำนวน 68 คน ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและครู จำนวน 7 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1-6 จำนวน 27 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 27 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน โรงเรียนวัดกลาง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง โดยให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้ประเมิน และแบบสอบถามความคิดเห็นต่อโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน โรงเรียนวัดกลาง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง โดยให้นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนเป็นผู้ประเมิน ทำการประมวลผลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ โดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที ผลการประเมินปรากฏ ดังนี้

  1. ผลการประเมินโดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ในภาพรวมทุกด้านผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
    1.1 ผลการประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (μ = 4.65, σ = 0.48) และเมื่อพิจารณาผลการประเมินเป็นรายข้อโดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย พบว่าข้อที่อยู่ในสามลำดับแรกคือ การกำหนดหลักการและเหตุผลของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (μ = 4.85, σ = 0.36) การกำหนดหลักการและเหตุผลของโครงการสอดคล้องกับนโยบายหรือกลยุทธ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 (μ = 4.85, σ = 0.36) การกำหนดหลักการและเหตุผลของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (μ = 4.77, σ = 0.42)
    1.2 ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (μ = 4.37, σ = 0.59) และเมื่อเรียงลำดับผลการประเมินรายด้านจากมากไปน้อย พบว่าลำดับแรกคือด้านกิจกรรม (μ = 4.57, σ = 0.55) รองลงมาคือ ด้านวัสดุอุปกรณ์ สถานที่ (μ = 4.38, σ = 0.59) ด้านบุคลากร (μ = 4.31, σ = 0.63) และด้านงบประมาณ (μ = 4.20, σ = 0.59)
    1.3 ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (μ = 4.59, σ = 0.53) และเมื่อเรียงลำดับผลการประเมินรายด้านจากมากไปน้อย พบว่าลำดับแรกคือ ด้านการติดตามและประเมินผล (μ = 4.63, σ = 0.48) รองลงมาคือด้านการจัดโครงการ (μ = 4.59, σ = 0.58) และด้านการวางแผน (μ = 4.54, σ = 0.52)
    1.4 ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) ส่วนที่นักเรียนเป็นผู้ประเมินพบว่าในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (μ = 4.39, σ = 0.75) และเมื่อเรียงลำดับผลการประเมินรายด้านจากมากไปน้อย พบว่าลำดับแรกคือ ด้านสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน (μ = 4.59, σ = 0.64) รองลงมาคือด้านสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนในโรงเรียน (μ = 4.45, σ = 0.69) ด้านสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับครู (μ = 4.43, σ = 0.74) ด้านร่างกาย (μ = 4.39, σ = 0.75) ด้านอารมณ์และจิตใจ (μ = 4.34, σ = 0.76) และด้านวิชาการ (μ = 4.15, σ = 0.89) ส่วนที่ผู้ปกครองนักเรียนเป็นผู้ประเมินพบว่าในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (μ = 4.19, σ = 0.69) และเมื่อเรียงลำดับผลการประเมินรายด้านจากมากไปน้อย พบว่าลำดับแรกคือ ด้านสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน (μ = 4.39, σ = 0.61) รองลงมาคือ ด้านสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับครู (μ = 4.35, σ = 0.69) ด้านอารมณ์และจิตใจ (μ = 4.23, σ = 0.69) ด้านร่างกาย (μ = 4.22, σ = 0.67) ด้านสัมพันธภาพระหว่างนักเรียนกับเพื่อนในโรงเรียน (μ = 4.09, σ = 0.72) และด้านวิชาการ (μ = 3.83, σ = 0.75)
  2. ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความคิดเห็นระหว่างนักเรียนเพศชายและเพศหญิงต่อโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน โรงเรียนวัดกลาง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ในภาพรวมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองนักเรียนในภาพรวมไม่แตกต่างกัน
  3. ปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน โรงเรียนวัดกลาง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง พบว่าขาดการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการที่หลากหลาย บุคลากรในการดำเนินโครงการมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอ งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอต่อการดำเนินโครงการ ระยะเวลาการจัดกิจกรรมของโครงการในบางครั้งไม่ตรงตามแผนที่กำหนดไว้ การติดตามและประเมินผลโครงการรวมทั้งการจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการเพื่อนำเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยังขาดความต่อเนื่อง

ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. โรงเรียนควรให้ผู้ปกครองนักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีของโรงเรียน เพื่อนำเสนอความต้องการในการจัดโครงการร่วมกัน
2. โรงเรียนควรเชิญชวนและนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นความสำคัญในการจัดทำแผนดำเนินโครงการ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. โรงเรียนควรมีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้กระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Professional Learning Community : PLC) เป็นประจำและต่อเนื่อง
4. โรงเรียนควรมีการกำกับและติดตามให้การจัดกิจกรรมเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และนำผลที่ได้รายงานให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบและแก้ไขปัญหาที่ต้องการแก้ไขร่วมกัน

ข้อแนะนำในการประเมินครั้งต่อไป
1. ควรศึกษาการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนในเชิงคุณภาพเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียนให้มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น
2. ควรนำรูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินโครงการอื่น ๆ ของโรงเรียน เช่น โครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โครงการรักการอ่าน โครงการส่งเสริมทักษะทางวิชาการ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *